การกุศล

มูลนิธิโกลเด้นไทรแองเกิ้ล เอเชียน เอเลเฟ่น เป็นองค์กรการกุศลขนาดเล็ก ดำเนินการจดทะเบียนก่อตั้งเป็นมูลนิธิในประเทศไทยตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2548 โดยมีวัตถุประสงค์ในการช่วยเหลือช้างที่ไม่สามารถพึงพาตัวเองได้ ความสำเร็จในขั้นต้นของมูลนิธิฯ คือการให้ความช่วยเหลือช้าง และควาญช้าง(ผู้ดูแลช้าง) ที่ใช้ชีวิตเร่ร่อนอยู่ตามท้องถนน ให้ได้รับรายได้ สวัสดิการ และที่อยู่อาศัยที่เหมาะสมทั้งสำหรับคน และช้าง ภายในบริเวณพื้นที่ทุ่งหญ้า และผืนป่ากว่าหนึ่งพันไร่ที่อยู่รายล้อมโรงแรมอนันตรา สามเหลี่ยมทองคำ แคมป์ช้าง แอนด์ รีสอร์ท จ.เชียงราย เปรียบเสมือนบ้านให้กับช้างกว่า 20 เชือก

ตั้งแต่มูลนิธิฯ เริ่มดำเนินงานในปี พ.ศ. 2548 จนถึงปัจจุบัน มูลนิธิฯ ปรับรูปแบบการทำงานด้านช้างให้มีความร่วมสมัย และสอดคล้องกับหลัก 3 ประการ ได้แก่ การคุ้มครองสวัสดิภาพและความเป็นอยู่ของช้างเลี้ยง, การปกป้องช้างป่า, และการส่งเสริม สนับสนุนงานวิจัยและงานด้านการศึกษา

การทำงานด้านช้างร่วมกับองค์กรพันธมิตรต่างๆจากทั่วโลก เป็นกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อน และปรับปรุงแนวทางในการคุ้มครองสวัสดิภาพช้างเลี้ยง นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังให้การสนับสนุน และเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการสำหรับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับช้าง ในหัวข้อต่างๆ เช่น การฝึกช้างเชิงบวกด้วยเทคนิคทาร์เก็ตเทรนนิ่ง การเสริมสร้างสิ่งแวดล้อม และเทคนิคการฝึกช้างที่เป็นมิตร (H-ELP Technique) เป็นต้น มูลนิธิฯ ดำเนินการอบรมการฝึกช้างเชิงบวกด้วยเทคนิคทาร์เก็ตเทรนนิ่งมายาวนานกว่า 12 ปี มีผู้เข้ารับการอบรม ในระดับต่างๆ ทั้งผู้จัดการปางช้าง ควาญช้าง และสัตวแพทย์ กว่า 100 คน และเป็นผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและรับผิดชอบดูแลช้างทั้งสิ้น รวมแล้วกว่า 1,000 ชีวิต จาก 8 ประเทศ

ปัจจุบันมูลนิธิฯ มีโครงการอนุรักษ์ช้างป่าที่กำลังดำเนินการอยู่ 3 โครงการ ได้แก่

โครงการ #SurvivingTogether ในบริเวณพื้นที่รอบอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เป็นโครงการที่สนับสนุนชมรมอนุรักษ์ในชุมชน ให้รู้จักวิธี และเทคนิคพิเศษ ที่จะช่วยในการสกัดกั้นช้างป่าที่กำลังจะออกนอกพื้นที่อุทยานให้กลับเข้าป่า ก่อนที่จะสร้างความเสียหายให้แก่พืชผลทางการเกษตรของชุมชนในบริเวณใกล้เคียง และมีการสร้างหอสังเกตการณ์เพื่อเฝ้าระวังช้างป่าได้อย่างปลอดภัยยิ่งขึ้น

โครงการที่ 2 เป็นการทำงานร่วมกับ Hunter College, City University of New York (CUNY) และ Comparative Cognition for Conservation Laboratory ในการศึกษาพฤติกรรมช้างป่าทั้งในและนอกอุทยานแห่งชาติในประเทศไทย เพื่อส่งเสริมการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและช้าง

โครงการที่ 3 คือการจัดหาเงินทุนในการสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่อุทยานในการปกป้องผืนป่าขนาด 112,500 ไร่ ระหว่างพื้นที่อุทยานแห่งชาติ Botum Sakor และ Southern Cardamom ประเทศกัมพูชา ผืนป่าแห่งนี้นอกจากจะเป็นป่าดิบชื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์ เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์หลากหลายชนิดแล้ว ยังเป็นเส้นทางสำคัญในการอพยพของโขลงช้างป่า และยิ่งไปกว่านั้นคือ ทรัพยากรธรรมชาติเหล่านี้จะไม่ได้รับปกป้องคุ้มครอง หากปราศจากการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่อุทยาน

ประเทศไทยมีวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างบ้านมายาวนานกว่า 4,000 ปี ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้จะไม่สามารถคงอยู่ได้หากไม่ได้รับความร่วมมือ และการสนับสนุนจากเยาวชนรุ่นใหม่ ผู้ที่จะสืบสานวัฒนธรรมการเลี้ยงช้างให้ดำรงอยู่ต่อไป ดังนั้น มูลนิธิฯ จึงได้จัดหาครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเยาวชนที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านควาญช้าง อำเภอบ้านตากลาง จ.สุรินทร์ ปีละ 2 คน เพื่อช่วยในการขยายขอบเขตความรู้ พัฒนากระบวนการความคิด การตัดสินใจ ของเหล่าเยาวชนที่จะเติบโตไปเป็นควาญช้าง และ เป็นผู้สืบทอดมรดกทางวัฒนาธรรมในอนาคต โครงการนี้ไม่เพียงแต่พลิกโฉมโรงเรียนเล็กๆในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง ที่มีคะแนนภาษาอังกฤษรั้งท้ายให้กลายมาเป็นหนึ่งใน 100 โรงเรียน ที่มีคะแนนเฉลี่ยวิชาภาษาอังกฤษสูงเท่านั้น แต่ยังทำให้โรงเรียนแห่งนี้มีศักยภาพเพียงพอที่จะส่งนักเรียนเข้าแข่งขันภาษาอังกฤษในระดับจังหวัดอีกด้วย นับเป็นการยกระดับการศึกษาที่ไม่เคยเกิดขึ้นเลยตลอดระยะเวลาหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมา

ในระหว่างการระบาดของโรคโควิด -19 เมื่อผู้คนไม่สามารถเดินทางท่องเที่ยว รายได้ที่มาจากนักท่องเที่ยวจึงลดลง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อธุรกิจการท่องเที่ยวในประเทศไทย โดยเฉพาะธุรกิจการท่องเที่ยวที่เกี่ยวกับช้าง ในขณะที่รายได้จากการท่องเที่ยวลดลง แต่ยังต้องแบกรับค่าใช้จ่ายจากการดูแลช้าง และควาญ ปางช้างหลายแห่งจึงมีการปรับลดเงินเดือน หรือกระทั่งยุติกิจการ ส่งผลให้ควาญช้าง และช้างเลี้ยงกว่า 3,800 เชือก ได้รับความเดือดร้อน และจำเป็นที่จะต้องหาทางเอาตัวรอด ซึ่งมูลนิธิฯ เอง ก็ได้รับผลกระทบ และสูญเสียแหล่งเงินสนับสนุนที่สำคัญจากสถานการณ์ดังกล่าวเช่นกัน อย่างไรก็ตาม มูลนิธิฯ ยังคงยึดมั่นในหลักการที่จะช่วยเหลือช้างที่ไม่สามารถพึงพาตัวเองได้ โดยการให้ความช่วยเหลือ “ผู้ลี้ภัยจากสถานการณ์โควิด” จำนวน 5 เชือกให้เข้ามาอยู่ภายใต้การดูแลของมูลนิธิฯ

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังประสานความร่วมมือกับพันธมิตร ในการให้การช่วยเหลือและสนับสนุนงบประมาณแก่ทีมสัตวแพทย์ และพยาบาลสัตวแพทย์ทั้ง 13 คนทั่วประเทศ เพื่อใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางช่วยเหลือช้างป่วยตลอดช่วงเวลา 18 เดือนที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

ภายใต้มาตรการการจำกัดการเดินทาง เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทางมูลนิธิฯ ได้มีการจัดทำโปรแกรม #VirtualFieldtrip หรือการทัศนศึกษาผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อเผยแพร่ความรู้เรื่องช้างให้กับนักเรียนและนักศึกษาโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย ทั้งยังปรับรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับหลักสูตรในแต่ละระดับการศึกษา โดยโปรแกรมการสอนนี้มีให้เลือกทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ

แม้ว่าปัจจุบันสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะกลับสู่สภาวะปกติแล้ว มูลนิธิฯ ก็ยังคงดำเนินการถ่ายทอดสดเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจผ่านช่องทาง Official Website (Helpingelephants.org), Facebook (GTAEF Helping Elephants) และ Instagram (@GTAEF_Thailand) นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังมีจัดการบรรยายประจำสัปดาห์จากผู้เชี่ยวชาญ สัตวแพทย์ และนักวิจัยในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับช้างหรือการอนุรักษ์ โดยมีจำนวนการเข้ารับชมมากกว่า 11,000 ครั้งในปี 2564 ซึ่งผู้ที่สนใจศึกษาข้อมูลหรือข้อเท็จจริงเกี่ยวกับช้างสามารถย้อนดูในภายหลัง เพื่อใช้เป็นแหล่งอ้างอิงข้อมูลในอนาคต

ภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19 มูลนิธิฯ ยังคงดำเนินการทุกวิถีทางเพื่อให้โครงการต่างๆกลับไปสู่สภาวะปกติ อีกทั้งยังมุ่งเน้นการพบปะ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้เกี่ยวข้องด้วยความตั้งใจที่จะฟื้นฟูและพัฒนาการท่องเที่ยวให้มีความยั่งยืน และเพื่อการพัฒนาสวัสดิภาพที่ดีขึ้นแก่ช้างเลี้ยงต่อไป